วันอาทิตย์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2559

บ้านพี่ปาล์ม สถาปนิกอาศรมฯ


"ชีวิตของคนทำงานหนักจะมีอะไรที่ดีกว่า ครอบครัวที่อบอุ่น ได้เจอกันพร้อมหน้าพร้อมตา.....กัลยาณมิตรที่ดีพึ่งพาอาศัยไว้ใจได้.........เจ้านายที่เห็นคุณค่าของความเป็นมนุษย์ และบ้านหลังน้อยๆ ที่เป็นที่พักกายพักใจยามเหนื่อยล้า"

วันนี้เราได้มาเยี่ยมชมบ้านของพี่ปาล์ม สถาปนิกอาศรมฯ พี่ที่เปรียบเสมือนเสาอาคารต้นหนึ่งของอาศรม ด้วยเพราะพี่ปาล์มทุ่มเทแรงกายใจให้แก่บ้านหลังใหญ่มาเป็นเวลานานถึง 10 ปี  เม็ดเหงื่อทุกหยดได้กลายมาเป็นบ้านพักริมคลองหลังนี้


diagram แสดงความเชื่อมโยงของพื้นที่ใช้สอยภายในบ้าน
บ้านหลังนี้เป็นอีกหนึ่งหลังที่ถอดรหัสมาจากบ้านเรือนไทยและบ้านพื้นถิ่นกระเหรี่ยง โดยการยกสูงของบ้านที่ค่อนข้างมาก เพื่อไล่อากาศชื้นด้านล่างให้หมดไปด้วยการถ่ายเทของลม ลักษณะบ้านจะมีชานด้านหน้าและหลังเป็นตัวเชื่อมโยงพื้นที่ใช้สอยในแต่ละส่วน รวมถึงยังเป็นทางผ่านของลมที่วิ่งเข้าออกเวลาที่เปิดประตูและหน้าต่างของห้องรับแขกทั้งสองฝั่ง ทำให้ได้รับลมธรรมชาติได้อย่างเต็มที่  ลักษณะการวางผังของพี่ปาล์มคือ วางตาม micro climate คือ วางตามลม แดด ฝน ในพื้นที่เฉพาะบริเวณที่จะปลูกบ้าน จัดวางห้องน้ำ ห้องอาบน้ำซึ่งเป็นพื้นที่เปียกชื้นไว้ในโซนที่เจอแดดหนักๆ ของบ้าน เพื่อฆ่าเชื้อและไล่ความชื้นภายในบ้าน




บ้านของพี่ปาล์มมีลักษณะเป็น 2 ชั้น หลังคาสูงเพื่อแก้ปัญหาการระบายความร้อนในตัวบ้าน วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างมีทั้งไม้ เหล็ก ปูน กระเบื้อง เป้าหมายหลักของบ้านหลังนี้คือ บ้านที่แก้ปัญหาความร้อน บ้านที่ตอบโจทย์วัฒนธรรมของบ้าน และบ้านที่มีทุกสิ่งอย่างครบถ้วน  พื้นที่ใช้สอยบริเวณสนามเป็นที่ปลูกผักสวนครัว ปลูกต้นไม้ใบหญ้าของครอบครัวที่ฝันอยากจะมีมานาน




วัฒนธรรมของบ้านหลังนี้คือ การที่ได้เจอ ได้พบหน้ากันของคนในครอบครัว โดยการวางผังให้ห้องรับแขกเป็นจุดจ่ายคนไปยังห้องนอนของพ่อแม่ และของพี่ปาล์ม โดยที่พี่ปาล์มเล่าว่า เมื่อกลับมาถึงบ้านก็พบพ่อกับแม่ซึ่งกำลังดูหนังหรือกินข้าวอยู่ในห้องรับแขกก่อน ซึ่งทำให้พี่ปาล์มรู้สึกอบอุ่น มันเป็นวัฒนธรรมบ้านของพี่เค้า ที่จะได้เจอหน้า พูดคุยกันตลอด หลังจากนั้นก็จะขึ้นมาอยู่บนห้องของตนที่ซึ่งถือว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์แห่งหนึ่ง เพราะบนห้องของพี่ปาล์มนี้สามารถมองไปรอบๆบ้านได้ 360 องศา ทำให้พี่ปาล์มรู้สึกปลอดภัยจากทั้งผีและคน



การเลือกใช้วัสดุที่ไม่สะสมความร้อนก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกของพี่ปาล์ม ฝ้าไม้และจันทันทำจากไม้ตะแบก



สัดส่วนของบ้านเป็นไปตาม owner scale คือ มิดชิดแต่ยังเชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อมภายนอก แสงและลมได้อยู่ วัสดุที่ใช้เช่นประตู หน้าต่างก็จะเอามาจากไม้เก่าแถวอยุธยาที่พี่ปาล์มไปหามาเอง



มีชานบ้านเอาไว้นั่งตากลมตอนเย็นๆ จิบเบียร์เงียบๆคนเดียว หรือกับเพื่อนฝูงที่แวะมาเยี่ยมเยียน และมองดูดาวเต็มฟ้าตอนกลางคืน จากรูปคือชานหน้าบ้านซึ่งหันหน้าไปทางทิศตะวันออกติดกับคลอง ซึ่งลักษณะการใช้งานทั้งหมดที่ว่ามานี้ดูจะตอบโจทย์วิถีชีวิตของคนในบ้านเป็นอย่างดี 



บ้านที่อยู่ในระแวกของคนรู้จัก เพื่อนที่ทำงานเดียวกันก็ดูจะสร้างความปลอดภัยให้กับเจ้าของบ้านเป็นอย่างดี เหมือนกับภูมิปัญญาสมัยก่อนที่รู้จักกันหมดในหมู่บ้าน ทำให้เวลาไปไหนมาไหน ไม่อยู่บ้าน ก็จะลดความกังวลในทรัพย์สินมีค่าภายในบ้านได้ ไม่กลัวขโมยที่ไหน เพราะมีเพื่อนบ้านคอยเป็นหูเป็นตาให้ 

ซึ่งทั้งหมดทั้งปวงเป็นชิ้นส่วนประกอบสำคัญของคุณภาพชีวิตที่ดี 

ครุสติสถาน

ครุสติสถาน


สถานที่พักกายพักใจบนเนื้อที่ขนาดกระทัดรัด ในซอยประชาอุทิศ76 ออกแบบโดยอ.คุ้งและภรรยา ความน่าสนใจของสถานที่แห่งนี้คือ การจัดวางพื้นที่ทำกิจกรรม พักอาศัย ให้อยู่ภายใต้พื้นที่ขนาดเล็ก ซึ่งไม่ถูกรบกวนจากอาคาร สิ่งก่อสร้าง หรือกิจกรรมที่เสียงดัง หมายความว่า คนที่แสวงหาความสงบก็จะดำเนินกิจกรรมของตัวเองโดยไม่ถูกรบกวนใดๆ


bubble diagram แสดงความเชื่อมโยงของพื้นที่
จาก diagram นี้ แสดงให้เห็นการเชื่อมโยงและเข้าถึงพื้นที่แต่ละส่วนเป็นไปด้วยความซื่อๆ ตรงๆ ไม่มีความซับซ้อนใดๆ ทางเข้าทางออกจะมีอยู่ทางเดียว อาคารส่วนใหญ่จะไม่มีทางเชื่อมระหว่างอาคารใดๆ ยกเว้นครัวที่มีการเชื่อมต่อกับศาลาปฏิบัติธรรม และการจัดวางอาคารส่วนใหญ่จะอยู่ในทิศทางรับลมและรับวิวคลอง ให้ธรรมชาติได้ทำงานของมันอย่างเต็มที่



เมื่อตรงเข้ามาจากทางเข้า สิ่งที่เราจะเห็นเป็นอันดับแรกคือ ศาลาริมน้ำเล็กๆ หลังหนึ่ง ซึ่งก็ไม่ได้มีความหวือหวา สะดุดตาสะดุดใจอะไร อาจเพราะสถาปัตยกรรมแห่งนี้ไม่ได้จงใจให้เราอยู่กับสิ่งภายนอก มากไปกว่าการเข้าไปเรียนรู้และอยู่กับตัวเอง



เลี้ยวขวาเข้ามาสิ่งที่จะเจอคือหอพักสำหรับแขกซึ่งอยู่ไม่ไกลจากทางเข้ามากนัก เลยทำให้เกิดความคิดว่าสถานที่แห่งนี้คงรองรับแขกผู้มาเยือนที่ค่อนจะสูงวัย ทำให้ไม่ต้องแบกกระเป๋าไปไกลมาก อาคารเหล่านี้ถูกปิดล้อมด้วยรั้วต้นไม้ที่สูงเกินกว่าหัวระหว่างอาคารและทางเดิน ทำให้เรามองแทบไม่เห็นอาคารเลย มีแต่ต้นไม้ทั้งที่จริงแล้วพื้นที่เล็กๆ แห่งนี้มีอาคารอยู่เต็มไปหมด



การเข้าถึงอาคารก็จะเป็นไปอย่างตรงไปตรงมา เดินเข้าไปตรงๆ จากทางเดินตรงอุโมงค์ต้นไม้ ในหอพักก็จะมีชานยืนออกไปตรงคลองซึ่งจะอยู่ในสุดของอาคาร เป็นพื้นที่ปฏิสัมพันธ์และรับลมรับวิวจากlandscape ด้านหน้า ส่วนอีกฝั่งหนึ่งก็เป็นพื้นที่เดินจงกรมขนาดเล็กเป็นช่องๆ กั้นด้วยต้นไม้แนวสูงล้อมเป็นอุโมงค์เป็นการประหยัดเนื้อที่ของการวิปัสนาจงกรม



ลานกิจกรรมซึ่งเป็นพื้นที่ๆ ผู้แสวงหาความสงบนิยมใช้เป็นที่ออกกำลังยามเช้า เดินจงกรม และทำกิจกรรมที่ใช้เสียงนอกอาคาร อยู่ติดกับคลองเป็นจุดที่มีวิวดีที่สุดแห่งหนึ่ง และรับลมได้อย่างเต็มที่



เมื่อเดินกลับมายังจุดเริ่มต้นและเลี้ยวออกไปทางซ้ายก็จะเจอกับครัวที่ถูกซ่อนด้วยกำแพงต้นไม้ขนาดสูง น่าจะซัก 2.20 เมตร ทำให้เราแทบไม้รู้เลยว่า มีครัวซ่อนอยู่เบื้องหลัง จนกระทั่งเดินไปจนพบกับศาลาปฏิบัติธรรมจึงจะเห็นว่าสองอาคารนี้มีความเชื่อมต่อกัน เพราะว่าด้านล่างของศาลาจะเป็นที่ทานอาหาร รูปทางซ้ายจะแสดงให้เห็นถึงความสูงของกำแพงต้นไม้และหลังคาที่ยังพอมีช่องว่างให้แสงและลมเข้ามาในบริเวณครัว ทางเชื่อมระหว่าง 2 อาคารก็ยังเป็นจุดรับลมที่ดีมากแห่งหนึ่งและยังรับฝนที่กระหน่ำลงมาด้วย



ด้านบนของศาลาปฏิบัติธรรม ออกแบบให้ใช้งานแบบรับลมธรรมชาติ และแบบใช้แอร์ ด้านบนตรงเพดานของอาคารจะมีช่องระบายความร้อนที่เปิด-ปิดได้ เพื่อไล่อากาศร้อนระบายขึ้นสู่ด้านบน ทำให้ภายในอาคารมีอากาศที่เย็นสบายขึ้น ส่วนผนังจะเป็นบานกระจกล้อมรอบเพื่อเชื่อมต่อระหว่างภายนอกและภายในอาคารในตอนที่ยืนเท่านั้น ในส่วนของการนั่งเราจะมองออกไปด้านนอกไม่เห็นเพราะเวลาที่เรานั่งอยู่ในห้องนี้ส่วนใหญ่จะเป็นเวลาที่เรานั่งสมาธิ เชื่อมโยงกับภายในของตัวเอง 





เมื่อย้อนกลับมาพิจารณาดูเรือนพักอีกครั้งจะเห็นว่า หลังคาตรงกลางจะสูงขึ้นมา มีมุ้งลวดและช่องแสงอยู่ภายในของอาคาร เป็นไปเพื่อการระบายอากาศร้อนภายในอาคารออกไปทางช่องมุ้งลวด ทำให้อากาศด้านในถ่ายเทและลดอุณหภูมิภายในอาคาร

"ด้วยข้อจำกัดของพื้นที่ ทำให้สถานที่ปฏิบัติธรรมแห่งนี้ไม่ได้มีขนาดกว้างขวางเท่าไหร่ แต่การจัดวางผังเป็นรูปตัว L ก็ทำให้การใช้พื้นที่ที่มีอยู่มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งการจัดการกับต้นไม้ที่เป็นทั้งตัวบังและตัวเร่งให้รู้สึกถึงความร่มรื่นของธรรมชาติ ความโปร่งโล่งของสถานที่ โดยที่เราไม่ถูกรบกวนจากอาคารมากมายที่ห้อมล้อมเราอยู่"


ส่วนหัวข้อ(สัดส่วนของอาคารที่มีผลต่อการระบายความร้อน)ที่สนใจในเรื่องสถาปัตยกรรมเขตร้อนชื้นนั้น ยังจับต้องไม่ได้มากนักจากสถานที่แห่งนี้ ด้วยข้อจำกัดในเรื่องของการวัด ความเล็กแคบของพื้นที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานมาก

วันพุธที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2559

สถาปัตยกรรมในเขตร้อนชื้น บ้านตะวันออก

บ้านตะวันออก

บ้านตะวันออกเป็นบ้านของอาจารย์พิรัช หรืออ.ย้ง แห่งคณะสถาปัตย์จุฬาฯ บนเนื้อที่ 1 ไร่ ในซอยพุทธบูชา 39  เมื่อย้อนกลับไปประมาณ 15 ปีที่แล้ว มูลค่าการก่อสร้างบ้านนี้อยู่ที่ 8,000,000 บาท อาจารย์กลับมาใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่แห่งนี้ในช่วงวันเสาร์ อาทิตย์ โดยมีสมาชิกทั้งหมด 5 คน มีอาจารย์ย้ง ภรรยา และคนรับใช้อีก 3 คน

ความหมายของ Tropical Zone คือ พระอาทิตย์อยู่กลางศีรษะทั้งกลางวันและกลางคืนในเวลาที่เท่ากัน อย่างน้อยหนึ่งวันในหนึ่งปี

การก่อสร้าง - เป็นวิธีที่เรียกกันว่า detail on site ตามที่เข้าใจคือ วางผังบ้านในขั้นตอนแรก วางเสา และเก็บรายละเอียดของพื้นที่ใช้สอยที่หน้างานเลย โดยคำนึงถึงวิธีและขั้นตอนในการก่อสร้างเป็นหลัก มีเพียงพื้นอย่างเดียวที่สำเร็จรูปมา  อย่างเสา ตง เหล็ก คานก็ค่อยๆ วางและเลือกวัสดุที่เหมาะสมมาใช้งาน

วัสดุ - โครงสร้างส่วนใหญ่เป็นเหล็ก ยกเว้นเสาที่เป็นคอนกรีต ในส่วนของผนังมีทั้งกระจก กำแพงก่ออิฐฉาบปูน คอนกรีตเปลือยและไม่เปลือย พื้นก็ใช้วัสดุง่ายๆคือ ดิน ไม้ หินกาบ กระเบื้องดินเผา และหลังคากระเบื้องที่ติดชนวนกระดาษซึ่งจะทำให้เกิดการระคายเคืองน้อยกว่า ซึ่งวัสดุส่วนใหญ่ที่ใช้จะไม่เก็บความร้อนไว้นาน คือ ร้อนไวและเย็นไว

เป้าหมาย - การสร้างความเชื่อมโยงของมนุษย์กับธรรมชาติ การอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน

แนวคิดในการออกแบบ  
1. การใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน(เยอะๆ) + วิทยาศาสตร์ + การออกแบบ 
ภูมิปัญญาของชาวบ้านในที่นี้คือ การดึงเอาลักษณะบ้านที่มีในสมัยก่อน อย่างเช่นบ้านเรือนไทย โดยการดึงองค์ประกอบต่างๆ มาใช้ เช่น มีใต้ถุนสูงเพื่อเปิดช่องให้ลมเข้า(ประมาณ 1 เมตรไม่รวมคาน) เพื่อระบายอากาศร้อนชื้นด้านล่างและกันปลวกมากินพื้นไม้ การทำให้เพดานสูง(3.50, 6.00) เพื่อระบายความร้อน ชายคาที่มีลักษณะยาวบ้างสั้นบ้างสลับกันเป็นไปเพื่อการบังแดดแบบ Tropical zone สำหรับคนในเขตนี้ ความร่มเงาคือความงามและสบาย ในขณะที่ชาวตะวันออก ตะวันตกโซนอื่นๆ จะรู้สึกว่า แสงคือความสวยงาม นี่คือตัวอย่างความงามเฉพาะพื้นที่ ภูมิประเทศที่จะแตกต่างกันไป และสัจจะวัสดุซึ่งเป็นความงามตามแบบฉบับบ้านเรือนไทยที่เน้นการเผยไม่มีอะไรปิดบัง ในส่วนของวิทยาศาสตร์ อาจารย์นำเอา Micro(สภาพอากาศที่เราควบคุมได้) และ Macro climate(สภาพอากาศที่ควบคุมไม่ได้) มาใช้ในการออกแบบ

2. ให้ความสำคัญกับ how to build มากกว่า why we build คือไม่เน้นเรื่อง Form หรือสไตล์อะไรของอาคารมากไปกว่า วัสดุ กระบวนการก่อสร้าง บริบท

3. ลักษณะอาคารขายาวซึ่งถูกเร่งด้วยเสาสูง เมื่ออยู่ใกล้กับตัวอาคารจะรู้สึกว่าสูงมากกว่ามองมาจากที่ไกลๆ เนื่องจากตัวเจ้าของบ้านมีความชอบสถาปัตยกรรมแบบกอธิคคือ สถาปัตยกรรมที่สูงชลูด ลักษณะบ้านจึงมีเพดานสูงเพื่อทำให้คนรู้สึกตัวเล็กลงแล้วเกิดความเคารพในบางสิ่งอย่าง เช่นเดียวกับต้นจามจุรีด้านนอกซึ่งมีความสูงเท่ากับความสูงของบ้านประมาณ 10 กว่าเมตร ซึ่งอาจจะมีความเชื่อมโยงในเชิงสัญลักษณ์คือ ทำให้คนเกิดความเคารพธรรมชาติ

4. การจัดวางตำแหน่งของบ้านเพื่อให้พระอาทิตย์ไม่ส่องตรงมาที่ตัวบ้านในด้านยาว ซึ่งจะทำให้ตัวบ้านร้อน และเลือกวางพื้นที่ๆ ต้องการรับแสงอาทิตย์ร้อนๆ ในช่วงบ่าย คือ ห้องน้ำ ซึ่งต้องการการฆ่าเชื้อ

5. ทางเดินเป็นสิ่งที่สำคัญมาก - สถาปนิกบังคับการเดินในบ้าน ให้เดินไกล เดินใกล้หรือเดินแบบไม่รู้จบเลยก็มี รวมถึงการสร้าง space ให้เห็นแล้วไปได้ กับเห็นแล้วไปไม่ได้  และการเล่นกับมุมมอง เช่น ถ้ามองจากในสวน จะเห็นคนอยู่บนบ้านตัวเล็ก กล่าวคือ จะเห็นบ้าน space  และมนุษย์ตัวเล็กๆ ลอยอยู่บนชาน หรือทางเดินจากห้องนอนลงมาด้านล่าง

6. การจัดวางสัดส่วนที่เท่ากันของ Indoor(อาคาร) และ Outdoor(สิ่งแวดล้อม) เพื่อสร้างความกลมกลืนของสถาปัตยกรรมและธรรมชาติโดยรอบ

7. ออกแบบอาคารให้มีความรู้สึกโปร่งโล่ง เหมือนถือร่มซักคันใช้กันแดดและกันฝน รวมทั้งการเลือกพันธุ์ไม้ tropical โปร่งๆ จัดวางในตำแหน่งที่ไม่บล็อคลม

8. การใช้ภาษา และสัญลักษณ์ต่างๆ ในการออกแบบ  อันนี้ยังไม่ค่อยเข้าใจนักเพราะอาจารย์ย้งขอติดไว้ก่อน

ความรู้สึกของตัวเองที่มีนอกเหนือจากที่กล่าวมา - รู้สึกว่าเราเข้าใจผิดมาโดยตลอดว่าการสร้างบ้านให้สวยนั้น คือ ออกแบบform ให้ดูดี เฉียว เปรี้ยว ซ่า มีความเป็นศิลปะ แต่เมื่อได้มาดูบ้านหลังนี้ที่ภายนอกก็ดูเรียบง่ายเหมือนบ้านธรรมดาทั่วไป ที่มีต้นไม้เยอะๆ หน่อย แต่พอได้เข้ามาสัมผัส ได้มาเดินดูใกล้ๆ ได้ก้าวเข้าไปด้านใน ความรู้สึกที่มีต่อบ้านหลังนี้ก็เปลี่ยนไป ลักษณะใหญ่โตของบ้านหลังนี้ ไม่ได้ทำให้รู้สึกเหงาที่ต้องมานั่งบนโซฟาอยู่คนเดียว........ ห้องน้ำใหญ่ๆที่ดูจะไร้เหตุผลในการสร้าง กลับอธิบายลักษณะนิสัยของเจ้าของที่เป็นนักคิด นักอ่านที่ต้องการกลั่นกรองความคิดสร้างสรรค์ออกมาในที่สงบ........ห้องนอนที่กว้างขวาง ใหญ่โต เป็นพื้นที่กระชับความสัมพันธ์ของครอบครัว ก่อนจะเข้านอนในมุมเล็กๆ หลังม่าน.........พื้นที่รับแขกที่มีกระจัดกระจายรอบบ้าน ทั้งห้องรับแขก ชานเชื่อมอาคารระหว่างอาคาร แม้กระทั้งสวนหน้าบ้าน บอกเราถึงความมีอัธยาศัยที่ดีของเจ้าของบ้าน ซึ่งจะมีคนมาเยี่ยมเยียนอยู่บ่อยๆ.......การอยู่กับธรรมชาติ ลม ฝน แดด ต้นไม้ เปรียบเสมือนต้นกล้าที่เติบโตในดินที่อุดมสมบูรณ์ กับสิ่งแวดล้อมที่ดี บอกเราถึงคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัย ซึ่งจะเติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ แผ่ระแหงสร้างความร่มเย็นให้กับคนที่อยู่ใกล้























ประเด็นที่อยาก Explore คือ สนใจในเรื่องการลดการใช้พลังงาน จากประโยชน์ของบ้านในเขตร้อนชื้น และ สัดส่วนของอาคารที่มีผลต่อการระบายอากาศ