บ้านตะวันออก
บ้านตะวันออกเป็นบ้านของอาจารย์พิรัช หรืออ.ย้ง แห่งคณะสถาปัตย์จุฬาฯ บนเนื้อที่ 1 ไร่ ในซอยพุทธบูชา 39 เมื่อย้อนกลับไปประมาณ 15 ปีที่แล้ว มูลค่าการก่อสร้างบ้านนี้อยู่ที่ 8,000,000 บาท อาจารย์กลับมาใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่แห่งนี้ในช่วงวันเสาร์ อาทิตย์ โดยมีสมาชิกทั้งหมด 5 คน มีอาจารย์ย้ง ภรรยา และคนรับใช้อีก 3 คน
ความหมายของ Tropical Zone คือ พระอาทิตย์อยู่กลางศีรษะทั้งกลางวันและกลางคืนในเวลาที่เท่ากัน อย่างน้อยหนึ่งวันในหนึ่งปี
การก่อสร้าง - เป็นวิธีที่เรียกกันว่า detail on site ตามที่เข้าใจคือ วางผังบ้านในขั้นตอนแรก วางเสา และเก็บรายละเอียดของพื้นที่ใช้สอยที่หน้างานเลย โดยคำนึงถึงวิธีและขั้นตอนในการก่อสร้างเป็นหลัก มีเพียงพื้นอย่างเดียวที่สำเร็จรูปมา อย่างเสา ตง เหล็ก คานก็ค่อยๆ วางและเลือกวัสดุที่เหมาะสมมาใช้งาน
วัสดุ - โครงสร้างส่วนใหญ่เป็นเหล็ก ยกเว้นเสาที่เป็นคอนกรีต ในส่วนของผนังมีทั้งกระจก กำแพงก่ออิฐฉาบปูน คอนกรีตเปลือยและไม่เปลือย พื้นก็ใช้วัสดุง่ายๆคือ ดิน ไม้ หินกาบ กระเบื้องดินเผา และหลังคากระเบื้องที่ติดชนวนกระดาษซึ่งจะทำให้เกิดการระคายเคืองน้อยกว่า ซึ่งวัสดุส่วนใหญ่ที่ใช้จะไม่เก็บความร้อนไว้นาน คือ ร้อนไวและเย็นไว
เป้าหมาย - การสร้างความเชื่อมโยงของมนุษย์กับธรรมชาติ การอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน
แนวคิดในการออกแบบ
1. การใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน(เยอะๆ) + วิทยาศาสตร์ + การออกแบบ
ภูมิปัญญาของชาวบ้านในที่นี้คือ การดึงเอาลักษณะบ้านที่มีในสมัยก่อน อย่างเช่นบ้านเรือนไทย โดยการดึงองค์ประกอบต่างๆ มาใช้ เช่น มีใต้ถุนสูงเพื่อเปิดช่องให้ลมเข้า(ประมาณ 1 เมตรไม่รวมคาน) เพื่อระบายอากาศร้อนชื้นด้านล่างและกันปลวกมากินพื้นไม้ การทำให้เพดานสูง(3.50, 6.00) เพื่อระบายความร้อน ชายคาที่มีลักษณะยาวบ้างสั้นบ้างสลับกันเป็นไปเพื่อการบังแดดแบบ Tropical zone สำหรับคนในเขตนี้ ความร่มเงาคือความงามและสบาย ในขณะที่ชาวตะวันออก ตะวันตกโซนอื่นๆ จะรู้สึกว่า แสงคือความสวยงาม นี่คือตัวอย่างความงามเฉพาะพื้นที่ ภูมิประเทศที่จะแตกต่างกันไป และสัจจะวัสดุซึ่งเป็นความงามตามแบบฉบับบ้านเรือนไทยที่เน้นการเผยไม่มีอะไรปิดบัง ในส่วนของวิทยาศาสตร์ อาจารย์นำเอา Micro(สภาพอากาศที่เราควบคุมได้) และ Macro climate(สภาพอากาศที่ควบคุมไม่ได้) มาใช้ในการออกแบบ
2. ให้ความสำคัญกับ how to build มากกว่า why we build คือไม่เน้นเรื่อง Form หรือสไตล์อะไรของอาคารมากไปกว่า วัสดุ กระบวนการก่อสร้าง บริบท
3. ลักษณะอาคารขายาวซึ่งถูกเร่งด้วยเสาสูง เมื่ออยู่ใกล้กับตัวอาคารจะรู้สึกว่าสูงมากกว่ามองมาจากที่ไกลๆ เนื่องจากตัวเจ้าของบ้านมีความชอบสถาปัตยกรรมแบบกอธิคคือ สถาปัตยกรรมที่สูงชลูด ลักษณะบ้านจึงมีเพดานสูงเพื่อทำให้คนรู้สึกตัวเล็กลงแล้วเกิดความเคารพในบางสิ่งอย่าง เช่นเดียวกับต้นจามจุรีด้านนอกซึ่งมีความสูงเท่ากับความสูงของบ้านประมาณ 10 กว่าเมตร ซึ่งอาจจะมีความเชื่อมโยงในเชิงสัญลักษณ์คือ ทำให้คนเกิดความเคารพธรรมชาติ
4. การจัดวางตำแหน่งของบ้านเพื่อให้พระอาทิตย์ไม่ส่องตรงมาที่ตัวบ้านในด้านยาว ซึ่งจะทำให้ตัวบ้านร้อน และเลือกวางพื้นที่ๆ ต้องการรับแสงอาทิตย์ร้อนๆ ในช่วงบ่าย คือ ห้องน้ำ ซึ่งต้องการการฆ่าเชื้อ
5. ทางเดินเป็นสิ่งที่สำคัญมาก - สถาปนิกบังคับการเดินในบ้าน ให้เดินไกล เดินใกล้หรือเดินแบบไม่รู้จบเลยก็มี รวมถึงการสร้าง space ให้เห็นแล้วไปได้ กับเห็นแล้วไปไม่ได้ และการเล่นกับมุมมอง เช่น ถ้ามองจากในสวน จะเห็นคนอยู่บนบ้านตัวเล็ก กล่าวคือ จะเห็นบ้าน space และมนุษย์ตัวเล็กๆ ลอยอยู่บนชาน หรือทางเดินจากห้องนอนลงมาด้านล่าง
6. การจัดวางสัดส่วนที่เท่ากันของ Indoor(อาคาร) และ Outdoor(สิ่งแวดล้อม) เพื่อสร้างความกลมกลืนของสถาปัตยกรรมและธรรมชาติโดยรอบ
7. ออกแบบอาคารให้มีความรู้สึกโปร่งโล่ง เหมือนถือร่มซักคันใช้กันแดดและกันฝน รวมทั้งการเลือกพันธุ์ไม้ tropical โปร่งๆ จัดวางในตำแหน่งที่ไม่บล็อคลม
8. การใช้ภาษา และสัญลักษณ์ต่างๆ ในการออกแบบ อันนี้ยังไม่ค่อยเข้าใจนักเพราะอาจารย์ย้งขอติดไว้ก่อน
ความรู้สึกของตัวเองที่มีนอกเหนือจากที่กล่าวมา - รู้สึกว่าเราเข้าใจผิดมาโดยตลอดว่าการสร้างบ้านให้สวยนั้น คือ ออกแบบform ให้ดูดี เฉียว เปรี้ยว ซ่า มีความเป็นศิลปะ แต่เมื่อได้มาดูบ้านหลังนี้ที่ภายนอกก็ดูเรียบง่ายเหมือนบ้านธรรมดาทั่วไป ที่มีต้นไม้เยอะๆ หน่อย แต่พอได้เข้ามาสัมผัส ได้มาเดินดูใกล้ๆ ได้ก้าวเข้าไปด้านใน ความรู้สึกที่มีต่อบ้านหลังนี้ก็เปลี่ยนไป ลักษณะใหญ่โตของบ้านหลังนี้ ไม่ได้ทำให้รู้สึกเหงาที่ต้องมานั่งบนโซฟาอยู่คนเดียว........ ห้องน้ำใหญ่ๆที่ดูจะไร้เหตุผลในการสร้าง กลับอธิบายลักษณะนิสัยของเจ้าของที่เป็นนักคิด นักอ่านที่ต้องการกลั่นกรองความคิดสร้างสรรค์ออกมาในที่สงบ........ห้องนอนที่กว้างขวาง ใหญ่โต เป็นพื้นที่กระชับความสัมพันธ์ของครอบครัว ก่อนจะเข้านอนในมุมเล็กๆ หลังม่าน.........พื้นที่รับแขกที่มีกระจัดกระจายรอบบ้าน ทั้งห้องรับแขก ชานเชื่อมอาคารระหว่างอาคาร แม้กระทั้งสวนหน้าบ้าน บอกเราถึงความมีอัธยาศัยที่ดีของเจ้าของบ้าน ซึ่งจะมีคนมาเยี่ยมเยียนอยู่บ่อยๆ.......การอยู่กับธรรมชาติ ลม ฝน แดด ต้นไม้ เปรียบเสมือนต้นกล้าที่เติบโตในดินที่อุดมสมบูรณ์ กับสิ่งแวดล้อมที่ดี บอกเราถึงคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัย ซึ่งจะเติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ แผ่ระแหงสร้างความร่มเย็นให้กับคนที่อยู่ใกล้
ประเด็นที่อยาก Explore คือ สนใจในเรื่องการลดการใช้พลังงาน จากประโยชน์ของบ้านในเขตร้อนชื้น และ สัดส่วนของอาคารที่มีผลต่อการระบายอากาศ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น