วันอาทิตย์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2559

ครุสติสถาน

ครุสติสถาน


สถานที่พักกายพักใจบนเนื้อที่ขนาดกระทัดรัด ในซอยประชาอุทิศ76 ออกแบบโดยอ.คุ้งและภรรยา ความน่าสนใจของสถานที่แห่งนี้คือ การจัดวางพื้นที่ทำกิจกรรม พักอาศัย ให้อยู่ภายใต้พื้นที่ขนาดเล็ก ซึ่งไม่ถูกรบกวนจากอาคาร สิ่งก่อสร้าง หรือกิจกรรมที่เสียงดัง หมายความว่า คนที่แสวงหาความสงบก็จะดำเนินกิจกรรมของตัวเองโดยไม่ถูกรบกวนใดๆ


bubble diagram แสดงความเชื่อมโยงของพื้นที่
จาก diagram นี้ แสดงให้เห็นการเชื่อมโยงและเข้าถึงพื้นที่แต่ละส่วนเป็นไปด้วยความซื่อๆ ตรงๆ ไม่มีความซับซ้อนใดๆ ทางเข้าทางออกจะมีอยู่ทางเดียว อาคารส่วนใหญ่จะไม่มีทางเชื่อมระหว่างอาคารใดๆ ยกเว้นครัวที่มีการเชื่อมต่อกับศาลาปฏิบัติธรรม และการจัดวางอาคารส่วนใหญ่จะอยู่ในทิศทางรับลมและรับวิวคลอง ให้ธรรมชาติได้ทำงานของมันอย่างเต็มที่



เมื่อตรงเข้ามาจากทางเข้า สิ่งที่เราจะเห็นเป็นอันดับแรกคือ ศาลาริมน้ำเล็กๆ หลังหนึ่ง ซึ่งก็ไม่ได้มีความหวือหวา สะดุดตาสะดุดใจอะไร อาจเพราะสถาปัตยกรรมแห่งนี้ไม่ได้จงใจให้เราอยู่กับสิ่งภายนอก มากไปกว่าการเข้าไปเรียนรู้และอยู่กับตัวเอง



เลี้ยวขวาเข้ามาสิ่งที่จะเจอคือหอพักสำหรับแขกซึ่งอยู่ไม่ไกลจากทางเข้ามากนัก เลยทำให้เกิดความคิดว่าสถานที่แห่งนี้คงรองรับแขกผู้มาเยือนที่ค่อนจะสูงวัย ทำให้ไม่ต้องแบกกระเป๋าไปไกลมาก อาคารเหล่านี้ถูกปิดล้อมด้วยรั้วต้นไม้ที่สูงเกินกว่าหัวระหว่างอาคารและทางเดิน ทำให้เรามองแทบไม่เห็นอาคารเลย มีแต่ต้นไม้ทั้งที่จริงแล้วพื้นที่เล็กๆ แห่งนี้มีอาคารอยู่เต็มไปหมด



การเข้าถึงอาคารก็จะเป็นไปอย่างตรงไปตรงมา เดินเข้าไปตรงๆ จากทางเดินตรงอุโมงค์ต้นไม้ ในหอพักก็จะมีชานยืนออกไปตรงคลองซึ่งจะอยู่ในสุดของอาคาร เป็นพื้นที่ปฏิสัมพันธ์และรับลมรับวิวจากlandscape ด้านหน้า ส่วนอีกฝั่งหนึ่งก็เป็นพื้นที่เดินจงกรมขนาดเล็กเป็นช่องๆ กั้นด้วยต้นไม้แนวสูงล้อมเป็นอุโมงค์เป็นการประหยัดเนื้อที่ของการวิปัสนาจงกรม



ลานกิจกรรมซึ่งเป็นพื้นที่ๆ ผู้แสวงหาความสงบนิยมใช้เป็นที่ออกกำลังยามเช้า เดินจงกรม และทำกิจกรรมที่ใช้เสียงนอกอาคาร อยู่ติดกับคลองเป็นจุดที่มีวิวดีที่สุดแห่งหนึ่ง และรับลมได้อย่างเต็มที่



เมื่อเดินกลับมายังจุดเริ่มต้นและเลี้ยวออกไปทางซ้ายก็จะเจอกับครัวที่ถูกซ่อนด้วยกำแพงต้นไม้ขนาดสูง น่าจะซัก 2.20 เมตร ทำให้เราแทบไม้รู้เลยว่า มีครัวซ่อนอยู่เบื้องหลัง จนกระทั่งเดินไปจนพบกับศาลาปฏิบัติธรรมจึงจะเห็นว่าสองอาคารนี้มีความเชื่อมต่อกัน เพราะว่าด้านล่างของศาลาจะเป็นที่ทานอาหาร รูปทางซ้ายจะแสดงให้เห็นถึงความสูงของกำแพงต้นไม้และหลังคาที่ยังพอมีช่องว่างให้แสงและลมเข้ามาในบริเวณครัว ทางเชื่อมระหว่าง 2 อาคารก็ยังเป็นจุดรับลมที่ดีมากแห่งหนึ่งและยังรับฝนที่กระหน่ำลงมาด้วย



ด้านบนของศาลาปฏิบัติธรรม ออกแบบให้ใช้งานแบบรับลมธรรมชาติ และแบบใช้แอร์ ด้านบนตรงเพดานของอาคารจะมีช่องระบายความร้อนที่เปิด-ปิดได้ เพื่อไล่อากาศร้อนระบายขึ้นสู่ด้านบน ทำให้ภายในอาคารมีอากาศที่เย็นสบายขึ้น ส่วนผนังจะเป็นบานกระจกล้อมรอบเพื่อเชื่อมต่อระหว่างภายนอกและภายในอาคารในตอนที่ยืนเท่านั้น ในส่วนของการนั่งเราจะมองออกไปด้านนอกไม่เห็นเพราะเวลาที่เรานั่งอยู่ในห้องนี้ส่วนใหญ่จะเป็นเวลาที่เรานั่งสมาธิ เชื่อมโยงกับภายในของตัวเอง 





เมื่อย้อนกลับมาพิจารณาดูเรือนพักอีกครั้งจะเห็นว่า หลังคาตรงกลางจะสูงขึ้นมา มีมุ้งลวดและช่องแสงอยู่ภายในของอาคาร เป็นไปเพื่อการระบายอากาศร้อนภายในอาคารออกไปทางช่องมุ้งลวด ทำให้อากาศด้านในถ่ายเทและลดอุณหภูมิภายในอาคาร

"ด้วยข้อจำกัดของพื้นที่ ทำให้สถานที่ปฏิบัติธรรมแห่งนี้ไม่ได้มีขนาดกว้างขวางเท่าไหร่ แต่การจัดวางผังเป็นรูปตัว L ก็ทำให้การใช้พื้นที่ที่มีอยู่มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งการจัดการกับต้นไม้ที่เป็นทั้งตัวบังและตัวเร่งให้รู้สึกถึงความร่มรื่นของธรรมชาติ ความโปร่งโล่งของสถานที่ โดยที่เราไม่ถูกรบกวนจากอาคารมากมายที่ห้อมล้อมเราอยู่"


ส่วนหัวข้อ(สัดส่วนของอาคารที่มีผลต่อการระบายความร้อน)ที่สนใจในเรื่องสถาปัตยกรรมเขตร้อนชื้นนั้น ยังจับต้องไม่ได้มากนักจากสถานที่แห่งนี้ ด้วยข้อจำกัดในเรื่องของการวัด ความเล็กแคบของพื้นที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานมาก

1 ความคิดเห็น:

  1. ละเอียดมากเลยครับ เขียนดีมากครับ เห็นภาพชัด ลำดับดี ค่อยๆเล่าเป็นลำดับ ชอบๆ รูปสวยด้วยครับ

    ตอบลบ